KhonThai America : คนไทยในอเมริกา

 ลืมรหัสผ่าน
 ลงทะเบียน
ค้นหา
แท็กยอดนิยม: ภาษาไทย แจก discuz
ดู: 5949|ตอบกลับ: 0
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

เรียนเก่ง แต่ทำไมถึงพูดภาษาอังกฤษไม่ได้สักที?

[คัดลอกลิงก์]

1188

กระทู้

4

ติดตาม

6160

เครดิต

ผู้ดูแลพิเศษ

Rank: 8Rank: 8

student-849828_960_720.jpg
photo by StartupStockPhotos/pixabay.com


               เคยสงสัยมั้ยคะว่า หลาย ๆ คน ได้เกรดการเรียนวิชาอื่นที่ดีมาก แต่พอเป็นเกรดภาษาอังกฤษ ทำไมได้น้อยแบบนี้ นั่นอาจจะเป็นเพราะเราเรียนภาษาอังกฤษที่ผิดวิธีกันอยู่ มาดูกันว่า วิธีการเรียนที่พัฒนาได้เร็วจะเป็นยังไงบ้างค่ะ

ภาษาคือทักษะ ไม่ใช่ความรู้ จึงต้องฝึกฝนจนชำนาญ
       การเรียนภาษา เป็นการฝึกทักษะอย่างหนึ่งค่ะ เหมือนการเล่นดนตรี หรือการเล่นกีฬา ไม่ใช่ว่าเราเข้าไปนั่งในห้องเรียน จำทฤษฎีดนตรีได้หมด ซื้อเครื่องดนตรีแพงๆ มาแล้วจะเล่นได้เลย สุดท้ายเราก็ต้องนำความรู้และเครื่องดนตรีที่มีมาใช้ฝึกซ้อม อยู่กับมันทุกวัน จนเราชำนาญและเล่นเครื่องดนตรีนั้นได้เป็นอย่างดี
       ถ้าเราอยากพูดภาษาอังกฤษได้เก่งๆ ต่อให้จำคำศัพท์ทั้งหมดที่มีในพจนานุกรมได้ รู้ไวยากรณ์หมด ก็ไม่ช่วยให้เราพูดภาษาอังกฤษได้เก่งเท่ากับได้พูดภาษาอังกฤษทุกวันอย่างต่อเนื่อง
        บางครั้งเราจึงเห็นคนที่ไม่มีความรู้ด้านดนตรี แต่เล่นเปียโนได้เก่งมาก กับคนที่ไม่มีความรู้เรื่องไวยากรณ์อังกฤษเลย แต่พูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วมาก นั่นเพราะเขาเรียนรู้สิ่งเหล่านั้นในอีกวิธีนั่นเอง

people-2593394_960_720.jpg
photo by StockSnap /pixabay.com


เราเรียนภาษาได้ 2 แบบ
        เราแบ่งการเรียนภาษาออกเป็น 2 แบบ แบบแรก คือ "การเรียนแบบรู้ตัว" หรือที่เราเรียนไวยากรณ์หรือคำศัพท์จากครูผู้สอนในห้องเรียน เป็นการได้รับข้อมูลโดยการ "สอน" ตรงๆ เราตั้งใจฟัง ตั้งใจจด ตั้งใจทำความเข้าใจสิ่งที่คุณครูสอน เรารู้ว่าเรากำลังเรียนภาษาอยู่

        ส่วนการเรียนอีกแบบ คือ "การเรียนแบบไม่รู้ตัว" เช่น การดูซีรี่ส์ที่เป็นเสียงพากย์ภาษาอังกฤษ การอ่านนิยายภาษาอังกฤษ การอ่านข่าวภาษาอังกฤษ ซึ่งเราไม่รู้ตัวว่าเราได้เรียนรู้คำศัพท์ และไวยากรณ์จากการรับสื่อพวกนี้ไปแล้ว ถึงจะไม่ได้เข้าใจหลักไวยากรณ์จริงๆ แต่เมื่อเจอรูปประโยคแบบเดิมก็จะพอเดาได้ว่าอะไรเป็นอะไร

brooklyn-839636_960_720.jpg
photo by Foundry/pixabay.com


เมื่อนำสิ่งที่รู้ไปใช้สื่อสารจริง
        ลองสังเกตเวลาเราพูดคุยกับเพื่อน พ่อแม่ หรือครูอาจารย์ ณ เวลาที่เราพูด ความคิดเราอยู่ที่ "เนื้อหา" หรือ "ไวยากรณ์" ที่เราพูดออกไป?
        ใช่แล้วค่ะ เรานึกถึง "เนื้อหา" เราคิดแต่ว่าเราจะพูดเรื่องอะไร เราไม่ได้คิดว่าประโยคต่อไปฉันจะใช้ไวยากรณ์ตัวนี้ คำศัพท์คำนี้ นี่คือการสื่อสารที่ถูกต้อง
        ดังนั้น คนที่เรียนภาษาอังกฤษจาก "การเรียนแบบรู้ตัว" มาโดยตลอด จะเหมือนคนที่ได้จิ๊กซอว์มาต่อเอง ชิ้นนี้คือประธาน ชิ้นนี้คือกริยา ชิ้นนี้คือกรรม กว่าจะประกอบขึ้นมาเป็นประโยคหนึ่งได้ต้องใช้เวลา ทำให้มีปัญหาในการสื่อสาร เสียเวลาคิด หรือพูดแล้วตะกุกตะกัก ติดขัดไปหมด
        ตรงข้ามกับคนที่เรียนภาษาอังกฤษจาก "การเรียนแบบไม่รู้ตัว" เหมือนได้จิ๊กซอว์ที่ต่อเรียบร้อยแล้วมาหลายภาพ ทำให้เมื่อเจอสถานการณ์นี้ เราจำได้ว่าเคยดูในหนัง เลยรู้ว่าตัวละครพูดอะไร ก็พูดเหมือนที่ตัวละครพูดได้ทั้งประโยคโดยไม่ต้องเสียเวลาคิดเลย
ได้อังกฤษเกรด 4 แต่ทำไมพูดอังกฤษไม่คล่องเลย?

person-984236_960_720.jpg
photo by Free-Photos/pixabay.com



        ทั้งหมดนี้จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเด็กที่เรียนภาษาอังกฤษจนได้เกรด 4 แม่นไวยากรณ์ รู้ศัพท์เยอะแยะ บางครั้งก็พูดภาษาอังกฤษได้ไม่คล่องเท่าเด็กที่ไม่แม่นไวยากรณ์

        แต่เอ...ถ้าอย่างนั้นทำไมเราเปลี่ยนหลักสูตรเป็นเรียนภาษาอังกฤษแบบไม่รู้ตัวไปให้หมดเลยล่ะ เด็กไทยจะได้พูดอังกฤษกันคล่องปร๋อเสียที
       จริงๆ แล้วการเรียนรู้ทั้ง 2 แบบนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสียค่ะ
        การเรียนแบบไม่รู้ตัว มีข้อดีคือทำให้เราพูดภาษาอังกฤษได้คล่อง แต่ถ้าเราจะเรียนแบบนี้เพียงแบบเดียว รับแต่ประโยคสำเร็จรูป โดยไม่เข้าใจไวยากรณ์ที่ใช้ในประโยคเลย ก็อาจต้องใช้เวลานานมากในการเรียนรู้ประโยคที่ครอบคลุมสถานการณ์ทั้งหมด
        พอเราเจอสถานการณ์ที่เราไม่เคยเจอมาก่อน เราจะไม่รู้ว่าต้องเปลี่ยนประโยคเดิมยังไงให้เหมาะกับสถานการณ์นี้ เช่น เราอาจจะเคยได้ยินแต่คำขอโทษว่า I'm sorry. ที่แปลว่า "ฉันเสียใจ"
        ถ้าเกิดน้องสาวเราไปเล่นซนมา แล้วเราต้องบอกคนอื่นว่า "เธอรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่ทำลงไป" เราอาจจะนึกไม่ออกว่าต้องเปลี่ยน I'm sorry. เป็นอย่างอื่นได้ยังไง ถึงจะสื่อว่าน้องสาวเราเป็นคนที่เสียใจ ไม่ใช่เรา

        ซึ่งข้อเสียตรงนี้ทดแทนได้ด้วยการเรียนแบบรู้ตัวค่ะ ถ้าเรารู้ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ รู้โครงสร้างประโยค เราก็จะรู้ว่าต้องปรับเปลี่ยนคำศัพท์ในประโยคยังไงให้มันใช้กับสถานการณ์ใหม่ๆ ได้

guy-2619283_960_720.jpg
photo by StockSnap/pixabay.com


       หลักสูตรการเรียนภาษา จึงต้องมีวิชาที่สอนทั้ง 2 แบบ ในหนึ่งเทอมเราจึงอาจได้เรียนทั้ง "ภาษาอังกฤษ 1" และ "ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร" แม้มันจะดูเหมือนเป็นวิชาภาษาอังกฤษเหมือนกัน แต่ตัวหนึ่งเน้นให้ความรู้ ในขณะที่อีกตัวเน้นปฏิบัตินั่นเองค่ะ

        ปัญหาของการเรียนภาษาตอนนี้คือ เราเรียนเพื่อเอาไป "สอบ" มากกว่าเรียนเพื่อเอาไป "ใช้" และการวัดระดับความรู้ว่าเราแม่นไวยากรณ์แค่ไหน มันง่ายกว่าการวัดระดับทักษะว่าใครใช้ภาษาอังกฤษเก่งกว่ากัน ทำให้หลายๆ โรงเรียนเน้นสอนไวยากรณ์เป็นหลัก สุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบก็คือนักเรียนตาดำๆ อย่างเราๆ ที่ได้คะแนนภาษาอังกฤษสูงมากแต่กลับใช้สื่อสารไม่ได้เลย

statue-of-liberty-2327760_960_720.jpg
photo by ParentRap/pixabay.com


                 ส่วนใครที่สนใจเรียนภาษาที่อเมริกา เพื่อได้เรียนจากประสบการณ์จริงๆ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ อีเมล enroll@khonthaiamerica.com หรือทาง Inbox https://www.facebook.com/KhonThaiAmerica   ทางเรามีเจ้าหน้าที่ดูแลนักเรียนอยู่ตามเมืองต่างๆ นะคะ
เช็ครายชื่อเจ้าหน้าที่ ที่นี่  http://khonthaiamerica.com/services/khon-thai-america-staff/

โดย Ice : KhonThaiAmerica

ที่มา https://www.dek-d.com/studyabroad/45872/ เขียนโดย พี่น้อง
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

Archiver|WAP|KhonThai America

GMT+7, 2024-11-29 03:01 , Processed in 0.038739 second(s), 25 queries .

Powered by Discuz! X2.5  Language by l3eil3oy

© 2001-2012 Comsenz Inc. style by eisdl

ขึ้นไปด้านบน