หากใครเป็นนักเรียนต่อนอกเก่าหรือกำลังจะไปเรียนต่อต้องเคยได้ยินคำว่า Culture Shock มาบ้างใช่ไหมคะเรารู้แค่ว่าอาการนี้เกิดจากการเจอวัฒนธรรมหรือพฤติกรรมของคนต่างบ้านต่างเมืองแต่อาการนี้จริงๆ แล้วคืออะไรกันแน่ มัน "ช็อก"จริงอย่างชื่อบอกหรือเปล่า วันนี้ขออธิบายให้กระจ่างกันค่ะ(รู้ไว้เผื่อซ้อมก่อนบินไปเรียนต่อเนอะ)
Culture Shock เป็นอาการตอบสนองต่อการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เราไม่คุ้นเคยอะไรที่เราคุ้นกลับหายไป ไม่ใช่แค่ไปเจอวัฒนธรรมแปลกๆในต่างประเทศอย่างการซักผ้าด้วยเท้าที่เกาหลี หรือหอมแก้มทักทายกันที่ฝรั่งเศสแต่รวมถึงการที่เราไม่สามารถดำรงชีวิตประจำวันแบบเดิมกับที่เราเคยทำในประเทศเราได้
เช่นเราอาจจะเคยชินกับการอยู่บ้านตื่นแปดโมง ตื่นปุ๊บมากินข้าวก่อนแล้วค่อยไปอาบน้ำ เก้าโมงยังไม่ถึงโรงเรียนแต่พอไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง นอนตื่นไม่เป็นเวลาตื่นแล้วต้องอาบน้ำก่อนแล้วค่อยไปกินข้าว เดินหลงออกจากบ้านเพื่อหาทางไปโรงเรียนความผิดแปลกเหล่านี้ก็ทำให้เราเกิด Culture Shock ได้ค่ะ
อาการ CultureShock แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่
1. ความตื่นเต้นช่วงแรก
แหม ได้ไปต่างประเทศทั้งที ใครจะไม่ตื่นเต้นดีใจล่ะคะลงจากเครื่องปุ๊บ เจอแต่คนที่เราไม่รู้จัก ร้านขายของน่าสนใจ อากาศอันเย็นสบายอะไรๆ ก็ดูน่าอยู่กว่าบ้านเราไปเสียหมดช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เราตื่นเต้นกับความแปลกใหม่ อะไรเข้ามา เราก็ว่าดีไปหมดแต่เดี๋ยวเราจะรู้ฤทธิ์ Culture Shock ค่ะช่วงแรกนี้อาจกินเวลาตั้งแต่ไม่กี่วันจนถึงเป็นเดือน ขึ้นอยู่กับการปรับตัวและสภาพแวดล้อมที่แต่ละคนเจอ
2. อาการต่อต้าน
ช่วงนี้ความแปลกที่เราเคยเห็นดีเห็นงามด้วยจะเริ่มดูขัดหูขัดตาขัดใจไปเสียหมดนั่นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่ไม่ใช่ พาลทำให้การใช้ชีวิตในเมืองนอกของเราเริ่ม"ยากขึ้น" เพราะสมองของเราจะต่อต้านไม่ยอมรับการปรับตัวซะแล้ว
3. กระบวนการปรับตัว หลังจากผ่านพ้นช่วงเวลาดีๆ และช่วงเวลาร้ายๆเป็นธรรมดาที่ยิ่งอยู่นาน เราก็จะคุ้นชินกับวัฒนธรรมและการใช้ชีวิตในต่างประเทศเราเริ่มคุ้นเคยกับชีวิตประจำวันรูปแบบใหม่ เราหลงทางน้อยลงเราสนิทกับโฮสต์แฟมิลี่ เพื่อนที่โรงเรียน และคุณป้าร้านดอกไม้ข้างบ้านมากขึ้น
4. สภาวะคงตัว จากหนอนน้อยน่าสงสาร เราได้กลายพันธุ์เป็นผีเสื้อตัวใหญ่ที่ปีกกล้าขาแข็งอาจใช้เวลาตั้งแต่เป็นเดือนถึงเป็นปีกว่าเราจะรู้สึกว่าที่ต่างประเทศนี้ก็เป็น"บ้าน" ของเราเช่นกัน บางคนอาจยังมาไม่ถึงขั้นนี้ก็หมดเวลาสนุกต้องบินกลับเมืองไทยที่รักของเราก่อนบางคนอาจมาถึงจุดนี้อย่างรวดเร็วและใช้ชีวิตอยู่กับมันนานมาก เสียจนกลับไทยแล้วกลายเป็นเจอCulture Shock ที่ไทยแทน (ซะงั้น)
แล้วอาการ CultureShock นี่คืออะไรกันนะ ใช่รู้สึกช็อก ต้องเอามือแนบอกแล้วอุทานว่า"นี่หรือเมืองพุทธ" หรือเปล่า
เปล่าค่ะ CultureShock ไม่ได้หมายถึงอาการ "ช็อก"แบบนั้น แต่หมายถึงร่างกายของเราเกิดอาการ "ช็อก" ทำให้ทำงานผิดปกติไปเสียหมด
อาการที่พบเห็นได้บ่อยมักเป็นอาการที่เกิดอยู่ภายในเช่น รู้สึกเหนื่อย เพลีย ไม่ค่อยกระตือรือร้นอยากทำอะไร บางคนอาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวหรือหงุดหงิดง่ายบางคนอาจรู้สึกหดหู่ อยู่ดีๆ ก็อยากร้องไห้โดยที่ไม่รู้ว่าจะร้องไปทำไมหรือมีอะไรมาสะกิดนิดหน่อยก็ปล่อยน้ำตาออกมาดื้อๆ
อาการที่รุนแรงขึ้นคือ ถึงขั้นกินไม่ได้ นอนไม่หลับหรือกินมากเกินไป หมกมุ่นกับการทำความสะอาดหรือไม่ก็ปล่อยตัวอิเหละเขละขละไปเลย เลวร้ายสุดๆอาจเกิดความเครียดจนทำร้ายคนรอบข้างได้
ดังนั้นคนที่มีอาการเหล่านี้แม้แต่นิดเดียวขอให้ตระหนักไว้ก่อนว่าเราอาจเกิดCulture Shock อยู่ ทางแก้คือให้หากิจกรรมทำร่วมกับคนอื่นหรือถ้าเราไม่ไหวจริงๆ ต้องปรึกษาโฮสต์แฟมิลี่หรือเพื่อนรอบตัวที่เราไว้ใจได้คุยเปิดใจกับคนๆ นั้น การได้คุยกับคนที่เข้าใจวัฒนธรรมในประเทศนั้นๆมากกว่าเราจะช่วยให้เราเห็นมุมมองใหม่ๆ ที่เราอาจไม่เคยคิดถึงมาก่อนและช่วยให้เราจัดการกับความรู้สึกเวลาเจออะไรที่ผิดแปลกไปจากที่เราเคยเจอได้
การคุยกับคุณพ่อคุณแม่หรือเพื่อนๆ ที่ไทยก็ช่วยได้แต่ไม่ทั้งหมดค่ะอย่างมากก็แค่ทำให้เรารู้สึกคลายเหงา เราจัดการอาการ CultureShock ได้ด้วยการปรับตัวเข้าหาประเทศที่เราอยู่ อย่าตีตัวออก อย่ายึดติดกับความเคยชินที่เรามีในไทยนะคะ
ขอบคุณที่มา http://www.dek-d.com/studyabroad/38668/
|