1. ศึกษาวัฒนธรรมให้ดี
ก่อนจัดกระเป๋าเดินทางไปอยู่กับโฮสต์แฟมิลี่ เช็กก่อนว่าประเทศที่เขาอยู่มีวัฒนธรรมประจำชาติยังไง ศาสนาที่เขานับถือมีข้อควรระวังอะไรบ้าง เช่น ที่สเปน ไม่ให้เดินเท้าเปล่าในบ้านเราก็ต้องเตรียมรองเท้าแตะสำหรับใส่เดินในบ้านไปด้วยหรือถ้าเราจะต้องไปพักกับโฮสต์แฟมิลี่ที่เป็นมุสลิมอาจต้องเอาอาหารแห้งที่มีหมูออกจากกระเป๋าเดินทางก่อนนะคะ
2. หาของไทยไปฝาก หลายคนคงทำอยู่แล้ว แต่บางคนอาจมองข้ามไปก่อนขึ้นเครื่องบินไปหาโฮสต์แฟมิลี่ แนะนำให้ซื้อของไทยๆ ไปฝากครอบครัวใหม่ของเราด้วย บางคนอาจซื้อผ้าไหม หรือผอบขนาดเล็กๆถ้าเอาแบบราคาไม่สูงมากอาจเลือกเป็นอาหารที่เอาเข้าประเทศนั้นๆ ได้(ระวังเรื่องการนำอาหารเข้าประเทศด้วยนะคะ)
3. อย่าโกหกโดยเฉพาะเรื่องอาหาร
การไปอยู่ต่างประเทศ เราอาจเจออาหารที่ไม่ถูกปากบ้างโดยเฉพาะอาหารที่คุณแม่ในโฮสต์แฟมิลี่เป็นคนทำให้หลายคนคงเลือกโกหกว่าเราชอบกินเพราะเกรงใจ แต่ความจริงแล้วเราควรพูดไปเลยว่าเราไม่ชอบอาหารจานนั้น เผื่อในอนาคตโฮสต์ของเราจับได้ทีหลังว่าเราโกหกแล้วเขาจะพาลคิดว่าเราไม่ได้โกหกแค่อาหารจานเดียวแต่เราอาจจะโกหกว่าชอบอาหารเขามาโดยตลอดก็ได้
4. ขอให้ช่วยเรื่องภาษา จุดประสงค์ของการไปแลกเปลี่ยนรองจากเรื่องวัฒนธรรมก็เป็นเรื่องภาษานี่แหละค่ะ ในหนึ่งวันเราใช้เวลานอนราว 8ชั่วโมง ไปโรงเรียนราว 8 ชั่วโมงและถ้าไม่ได้ไปไหน เราก็ต้องอยู่กับโฮสต์แฟมิลี่อีก 8 ชั่วโมงถือเป็นเวลาที่ดีที่เราจะได้สร้างสัมพันธ์กับโฮสต์ และฝึกทักษะด้านภาษาของเรา
เราอาจเลือกวิธีการไม่ฮาร์ดคอร์เกินไป เช่นแค่พูดคุยกับโฮสต์แฟมิลี่เหมือนใช้ชีวิตประจำวันตามปกติหรือเราอาจตกลงกับโฮสต์เลยว่าอยากให้เขาช่วยฝึกภาษาให้เราหรือแก้คำพูดให้เราทุกครั้งที่เราพูดผิดก็ได้
5. แต่อย่าจุ้นจ้านเกินไป บางคนอาจหวังพึ่งโฮสต์แฟมิลี่มากเกินไป ทำตัวติดแจ หรือเอาแต่ถามนั่นถามนี่จนทุกคนไม่มีเวลาส่วนตัวแบบนี้ก็ไม่ไหวให้รอจังหวะบ้าง เช่น เวลาที่ทุกคนอยู่รวมกลุ่มกันในห้องนั่งเล่นแบบนี้เราต้องเข้าไปรวมกลุ่มกับเขาด้วย ถ้าเก็บตัวอยู่ในห้องอาจเสียมารยาทแต่ถ้าทุกคนกำลังหมกมุ่นกับกิจกรรมของตัวเอง เราอาจนั่งอ่านหนังสือเงียบๆอยู่ในห้องนั่งเล่นจนกว่าคนอื่นจะเข้ามาคุยกับเราดีกว่า
6. เข้าใจแต่ละครอบครัว
แต่ละครอบครัวนั้นมีแนวคิดหรือวัฒนธรรมเป็นของตัวเองซึ่งบางทีอาจไม่ตรงกับวัฒนธรรมโดยรวมของประเทศนั้นก็ได้เราต้องทำความเข้าใจและปรับตัว
บางครอบครัวโดยเฉพาะในอเมริกามีแนวคิดแบบปัจเจกชนสูง จึงไม่ชอบวางกฎเกณฑ์กับลูก ปล่อยให้ไปเที่ยวเล่นอย่างอิสระค้างคืนที่บ้านเพื่อนโดยไม่ต้องโทรบอกก็ได้ ตรงข้ามกับบางครอบครัวที่เคร่งครัดจะไปไหนมาไหนต้องบอกกล่าว ห้ามกลับบ้านเกินกี่โมงถ้าเป็นคนไทยจะชินกับวัฒนธรรมแบบหลังมากกว่า
ดังนั้นอย่าน้อยใจหรือคิดว่าโฮสต์แฟมิลี่ไม่ใส่ใจเรา ถ้าเขาปล่อยให้เราไปไหนต่อไหนแล้วไม่โทรตามแบบคุณแม่ที่เมืองไทยเพราะนั่นเป็นหลักปฏิบัติของครอบครัวนั้นๆ เอง
7. อยู่ให้เหมือนเป็นบ้านของเราแต่ระลึกไว้เสมอว่านี่เป็นบ้านของเขา งงมั้ยคะ? ที่บอกว่าให้อยู่เหมือนเป็นบ้านของเราคือทำตัวตามสบายอย่าเกร็งไปเสียหมด โฮสต์แฟมิลี่ก็เป็นเหมือนครอบครัวของเรา มีอะไรพูดคุยได้ปรึกษาได้ ใช้เวลากับเขาให้เหมือนเราใช้เวลากับครอบครัวของเรา
แต่ที่ต้องระลึกไว้ด้วยว่านี่เป็นบ้านของเขาเพราะบางคนอาจติดนิสัยเดิมจากเมืองไทย กินแล้วไม่ล้างจาน ตื่นนอนแล้วไม่เก็บที่นอนปล่อยข้าวของรกรุงรังในห้องของเรา พฤติกรรมแบบนี้ไม่น่าพิสมัยเท่าไร ในทางกลับกันเราควรเสนอตัวช่วยงานบ้านเขาด้วย เพื่อตอบแทนที่เขาให้ที่พักและทำอาหารให้เรากิน
ให้นึกไว้เสมอว่าถ้ามีคนอื่นมาอยู่กับเรา พฤติกรรมแบบไหนที่เราไม่อยากได้เราก็อย่าทำนะคะ
8. สานสัมพันธ์ให้ยาวนานที่สุด ถ้าเราได้โฮสต์แฟมิลี่ดีจริงๆ หรือไม่ได้เลวร้ายกับเรามากนักขอให้สานสัมพันธ์กับพวกเขาเอาไว้ แม้จะจากกันก็ยังติดต่อส่งข่าวคราวกันเสมือนเป็นพ่อแม่บุญธรรมเราคนหนึ่งถือว่าเป็นโชคดีของเราค่ะ ที่ได้มีครอบครัวที่ผูกพันอาศัยอยู่อีกซีกโลกหนึ่ง
และผลพลอยได้ก็คือเราอาจขอความช่วยเหลือจากเขาในอนาคตข้างหน้าก็ได้นะ
ที่มา http://www.dek-d.com/studyabroad/38899/
|