แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ice999 เมื่อ 2017-7-20 13:28
ไปเจอบทความหนึ่ง ซึ่งน่าสนใจมากเกี่ยวกับการขับรถในอเมริกา วันนี้จึงได้เอามาฝากกันค่า เผื่อใครจะขับรถก็ควรจะศึกษากฏการขับให้ดีนะคะ เพราะค่าปรับแพงมาก
1. สหรัฐอเมริกา ขับพวงมาลัยซ้าย (Right-hand Traffic)
คิดว่าข้อนี้หลายคนคงรู้อยู่แล้วว่าที่ประเทศสหรัฐอเมริกา(USA) เป็นประเทศที่ขับรถด้วยพวงมาลัยซ้ายดังนั้นคำศัพท์ที่พูดๆ กันอาจจะไม่คุ้นหูคุ้นตาสักเท่าไหร่ เช่น เลี้ยวขวาผ่านตลอด(บ้านเราเจอแต่ เลี้ยวซ้ายผ่านตลอด) ขับแช่ซ้าย (บ้านเราเจอแต่ ขับแช่ขวา)อะไรแบบนี้เป็นต้น คำเหล่านี้ในข้อต่อๆ ไปคงจะได้เห็นกันค่ะ
ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับรถขับพวงมาลัยซ้าย และ พวงมาลัยขวา สำหรับใครที่ยังไม่รู้มาก่อน ภาพแสดงประเทศที่ขับรถด้วย พวงมาลัยซ้าย (สีแดง) (คิดเป็น 66.1%) และ พวงมาลัยขวา (สีน้ำเงิน) (คิดเป็น33.9%) ของรถทั้งหมดในโลก (ข้อมูลและภาพจาก Wikipedia)
จากภาพด้านบนแสดงให้เห็นว่ามีอยู่ไม่กี่ประเทศ ที่ขับรถด้วยพวงมาลัยขวา (เหมือนประเทศไทย บ้านเรา) และส่วนมากจะเป็นประเทศที่ได้รับวัฒนธรรมมาจากประเทศอังกฤษ (สหราชอาณาจักร)หรือพูดง่ายๆ เคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษเสียส่วนใหญ่ (ยกเว้นประเทศไทย และญี่ปุ่น) ประเทศเด่นๆ ที่ขับรถด้วยพวงมาลัยขวา ก็เห็นจะมี อินเดีย ออสเตรเลียนิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ส่วนที่เหลือไม่ต้องพูดถึง พวงมาลัยซ้ายหมดคือ จีน รัสเซีย และ สหรัฐอเมริกา
หมายเหตุ : สาเหตุ ที่รถขับพวงมาลัยซ้ายเค้าจะเรียกว่า Right-hand Traffic เพราะว่าถนนสองฝั่งรถวิ่งไปข้างหน้าทางขวา(เพราะขับด้วยพวงมาลัยซ้าย) ↓↑ ส่วนบ้านเราจะเป็น Left-handTraffic คือการขับพวงมาลัยขวา เพราะวิ่งไปข้างหน้าทางซ้าย ↑↓
2. จำกัดความเร็วสำคัญที่สุด ! (Speed Limit) ป้ายจำกัดความเร็ว มีหน่วยเป็นไมล์ต่อชั่วโมง มีให้เห็นอยู่ทั่วไปบนถนนในอเมริกา(ภาพ : Wikipedia)
เรื่องการจำกัดความเร็ว(Speed Limit) ความจริงไม่ได้สำคัญแค่เฉพาะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาหรอก แต่มันสำคัญทุกประเทศทั่วโลก(รวมถึงประเทศไทยเราด้วย)การคำนวณหน่วยวัดความเร็วที่นี่จะใช้หน่วยเป็นไมล์ต่อชั่วโมง (Miles perHour – MPH)* ซึ่งบ้านเราจะใช้หน่วยวัดเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมง (Kilometers per Hour – KPH) ซึ่งตรงจุดนี้ต้องระวังให้ดีเพราะจะเห็นตัวเลขที่น้อยกว่า บางทีขับเพลิน เพราะชินกับบ้านเราที่วัดหน่วยเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมง
อย่างเช่นป้ายในรูปด้านบนเขียนระบุว่า Speed Limit 55 นั่นหมายความว่าเราจะขับเร็วได้ไม่เกินประมาณ90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นั่นเองซึ่งเราสามารถปัดเศษขึ้นได้นิดหน่อย
จากประสบการณ์ตรงเวลาขับตามไฮเวย์(Highway) ถนนใหญ่ข้ามรัฐต่างๆ บางทีเห็นป้าย SpeedLimit อยู่ที่ 70 ซึ่งขับได้ไม่เกินประมาณ 110– 115 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่เห็นบางที รถคันอื่นๆ ขับกัน 80– 85 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมงถามว่าได้ไหม คำตอบคือ “ไม่ได้” (ถ้ามีตำรวจฮาๆ)
จริงๆ 80 ไมล์ต่อชั่วโมง เราก็สามารถขับได้ ขับตามๆ คันอื่นไปแต่อย่าให้เร็วเกินหน้าเกินตา ชนิดแบบ ปาดขวาแซงซ้าย (บ้านเราเรียก ปาดซ้ายแซงขวา)เหมือนที่เห็นในบ้านเราบ่อยๆ
ป้ายจำกัดความเร็วเท่าที่เห็นมีอยู่สองแบบหลักคือแบบที่เขียนว่า Speed Enforced by Radar และ Speed Enforcedby Aircraft ซึ่งแบบแรก จะเป็นกล้องจับความเร็วที่อยู่บนรถตำรวจซึ่งจะซุ่มจอดอยู่ตาม ทางเข้าออกไฮเวย์ (Highway Ramp) คล้ายๆปืนยิงข้างรถ หรือไม่ก็อยู่ในกล่องติดตั้งอยู่ข้างถนน (เหมือนของบ้านเรา) หมายเหตุ* : 1 ไมล์ เท่ากับ 1.60934กิโลเมตร
3. มีจำกัด ความเร็วขั้นต่ำ (Minimum Speed) ด้วยนะ
การขับรถที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา นี้ตามท้องถนนบางสาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตาม ไฮเวย์ ฟรีเวย์ ที่วิ่งตัดผ่านเมืองใหญ่ๆ เราอาจจะ ได้เห็นป้ายจำกัดความเร็วขั้นต่ำ (Minimum Speed) เอาไว้ด้วยเช่นกัน พูดง่ายๆ คือ ห้ามขับช้ากว่าความเร็วที่กำหนด ซึ่งอาจจะดูเป็นเรื่องแปลก สำหรับเราคนไทยสักนิด ที่จะคุ้นเคยแต่การจำกัดความเร็วสูงสุด เอาไว้อย่างเดียว
แต่ที่นี่ บางครั้งการทำตัวชักช้า ขับช้า ในชั่วโมงเร่งด่วน (Rush Hour) ก็อาจเป็นการ สร้างภาระรถติด ให้กับคนอื่นได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้เอง เขาจึงมีป้ายจำกัดความเร็วขึ้นต่ำ ที่มักจะเขียนว่า “Minimum Speed 40” นั่นก็คือ คุณห้ามขับรถ ด้วยความเร็วที่ต่ำกว่า 40 mph นั่นเอง มิเช่นนั้นก็ผิดกฏหมาย อาจโดนตำรวจเรียกได้อีกด้วยเช่นกัน ว่าทำไมขับช้าจัง
4. ป้าย “Ped Xing” คืออะไร มีให้เห็นอยู่ทั่วไป
เวลาขับรถไปตามท้องถนนในประเทศสหรัฐอเมริกานี้คุณจะเห็นคำว่า“Ped Xing” ให้เห็นอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองต่างๆ ป้าย “Ped Xing” นี้ย่อมาจากคำว่า“Pedestrian Crossing” หรือแปลว่า ระวังคนข้ามถนนหรือบ้านเราเรียก ทางม้าลาย นั่นเอง ลักษณะจะเป็นไฟกระพริบๆ สลับกันไปมา บนล่างหากมีคนข้ามถนน เรามาช้า เราต้องหยุดให้คนข้ามถนนไปก่อน
โดยส่วนมากป้าย “PedXing” จะอยู่ตามถนนตรอกเล็กๆ มากกว่า เพราะหากเป็นถนนใหญ่จริงๆ ทางม้าลาย ของเค้าจะเป็นไฟจราจร เสียส่วนใหญ่เพื่อให้คนข้ามถนนมากดปุ่มข้ามถนน แล้วสักพักไฟจราจรจะเป็นไฟแดง ผู้ขับขี่จะต้อง หยุดรถให้สนิท! ขณะคนกำลังข้ามถนนหรือแม้แต่ ไม่มีขณะไฟแดงแต่ไม่มีคนข้าม ก็ต้องหยุดรถเช่นกัน ที่นี่คนเดินข้ามถนน เป็นพระเจ้าค่ะ (ปลอดภัยสำหรับคนเดินข้ามมากเลย)
5. ทุกสี่แยก สามารถกลับรถได้ อ่านแบบนี้อย่าเพิ่งงงนะจะบอกว่า ไม่ได้ตาฝาดแน่นอน ทุก 4 แยกของ ถนนในอเมริกาสามารถกลับรถได้ ถ้าไม่มีป้ายห้ามกลับ ย้ำ ถ้าไม่มีป้ายห้ามกลับรถ (No U-Turn) ลองดูภาพประกอบด้านล่าง
ทุกแยกบนถนนใน ประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถกลับรถ (U-Turn) ได้ หากไม่มีป้ายห้ามกลับ และ คำเตือนต่างๆ (รูปจาก Google Street View)
จากภาพด้านบนหากคุณเป็นรถที่กำลังรอเลี้ยวซ้าย เมื่อไฟเขียวคุณสามารถกลับรถได้เลยตามเส้นลูกศรสีแดง แต่หากเป็นไฟแดงถึงแม้จะไม่มีรถวิ่งมาจากด้านใดก็ตาม ไม่สามารถกลับรถได้ (แต่แอบเห็นฝรั่งเขาก็ทำกัน)ซึ่งส่วนมากจะเป็นสี่แยกเล็กๆ อาจจะเป็นถนนใหญ่ตัดกับถนนเล็กที่สามารถกลับรถได้แต่หากเป็นแยกที่ถนนใหญ่สองเส้นมาตัดกัน แบบนี้อาจจะกลับรถไม่ได้ขึ้นอยู่กับแยกนั้นๆ ว่ามีป้ายห้ามกลับรถ (No U-Turn) หรือไม่
ในทางกลับกัน หากเป็นแยกใหญ่ ที่ถนนใหญ่สองเส้นมาตัดกัน โดยส่วนมากแล้ว แยกลักษณะแบบนี้ อาจจะกลับรถไม่ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับแยกนั้นๆ ว่ามีป้ายห้ามกลับรถ (No U-Turn) หรือไม่ ดังนั้นการ ขับรถในอเมริกา ต้องสังเกตดีๆ เสียก่อนนะ ไม่งั้นจะโดนใบสั่ง (Ticket) ได้ โดยไม่รู้ตัวเช่นกัน
6. เลี้ยวขวาผ่านตลอดทุกแยก อยู่เมืองไทยเราคงเคยได้ยินคำว่าเลี้ยวซ้ายผ่านตลอด แต่ขับรถในอเมริกา เราจะได้ยินแต่คำว่า เลี้ยวขวาผ่านตลอด หรือเดินรถทางขวา(Right-hand Traffic) ก็จะต้องเป็น เลี้ยวขวาผ่านตลอดแทน ที่นี่ทุกแยก ไม่ว่าจะเป็นสามแยก หรือสี่แยก เราสามารถเลี้ยวขวาผ่านตลอดได้ทั้งหมด ยกเว้นอาจจะมีบางแยกที่เขียนป้ายว่า “ NO TURN ON RED” นั่นหมายความว่าเลี้ยวขวาได้เมื่อสัญญาณไฟเขียวเท่านั้น(ลองดูตัวอย่าง ป้ายลักษณะนี้ได้ที่ Google เลย มีเยอะมากๆ กดตรงนี้)
7. Carpool Lane โดยสารมากกว่าสองได้เปรียบ!
ที่อเมริกาเขาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมากในหลายๆ เรื่องหากดูกันเฉพาะเรื่องของการจราจร การคมนาคมทางบกนั้นเขาจะให้สิทธิ์พิเศษของคนที่เดินทางไปไหนมาไหนด้วยกันซึ่งต้องเป็นการโดยสารบนรถคันเดียวกันมากกว่า 2 คนขึ้นไปหรือที่เรียกว่า “Carpool” เขาได้มีการจัดเลนหรือช่องทางจราจร พิเศษให้กับรถที่มีผู้โดยสารมากกว่า 2 คนขึ้นไปให้มีสิทธิ์วิ่งได้ในช่องทางซ้ายสุด (ชิดเกาะกลางถนน) หากขับรถคนเดียวแต่ว่าเราดันเข้าไปวิ่งในช่องทางจราจรแบบ Carpool ละก็โทษหนัก ปรับสูงสุด ประมาณ $400 ได้สังเกตุดูดีๆที่พื้นผิวถนนจะมีสัญลักษณ์เป็น รูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนตลอดระยะ ซึ่งหากใครขับรถไปกับครอบครัว ไปกับแฟน (สตรีมีครรภ์ ขับเลนนี้มาคนเดียวไม่ได้นะ) สามารถใช้บริการช่องทางจราจร นี้ได้เลย ไม่ต้องเกรงใจใคร
หมายเหตุ : ส่วนมากแล้วเราจะพบช่องทางเดินรถ Carpool Lane นี้จะมีเฉพาะบนถนนไฮเวย์ที่วิ่งตัดผ่านเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น จะมีประโยชน์มากๆเพราะสามารถกรองรถออกไปได้มากทีเดียว ส่วนไฮเวย์นอกเมืองจะไม่ค่อยพบเท่าไหร่
8. Metro Express Lanes ช่องทางจราจรพิเศษเร็วว่าใครแต่จ่ายตังค์
neontommy.com
หากคุณไปขับรถในลอสแอนเจลิส (LA) ขณะนี้ถนนในลอสแอนเจลิส มีบริการใหม่กับช่องทางจราจรที่เรียกว่า ExpressLanes ซึ่งเขาจะกันช่องจราจร 2 ช่องซ้ายสุดมาเป็นช่องทางจราจรพิเศษนี้ ซึ่งช่องทางจราจรนี้ไม่ใช่ว่าใครจะเข้าไปวิ่งได้แต่คุณจะต้องมี สิ่งที่เรียกว่า Tag ที่ใช้ชื่อว่า FasTrak® Transponder คล้ายๆ เหมือน EzyPass ของทางด่วนพิเศษบ้านเราติดไว้ที่กระจกหน้ารถของเรา ซึ่งคุณสามารถเข้าไป เปิดบัญชี (Account) ผ่านเว็บไซต์ ได้ที่หน้าเว็บไซต์ของเขาเลย กรอกข้อมูลส่วนตัวข้อมูลบัตรเครดิต เพื่อการชำระเงินออนไลน์ และหลังจากนั้น ตัวบัตร FasTrak® Transponder จะถูกส่งไปตามที่อยู่คุณที่กรอกเอาไว้ตอนลงทะเบียนภายใน3-5 วันทำการ หลักการการใช้บริการนั้นคุณจะต้องเข้าและออกทาง ExpressLanes ในจุดที่เขาให้เข้าและออกเท่านั้น ไม่ใช่ว่านึกจะเข้าก็เข้าได้ นึกจะออกก็ออกได้ เพราะว่าบางจุดสามารถเข้าได้อย่างเดียว บางจุดสามารถออกได้อย่างเดียวหรือบางจุดสามารถเข้าและออกได้ในจุดเดียวกัน อันนี้ต้องศึกษาดูให้ดี https://www.metroexpresslanes.net/en/about/ExpressLanes_Map_Toll_Entry.pdf
หมายเหตุ : การใช้บริการ เลนด่วนพิเศษ ExpressLanes นั้นคงจะไม่เหมาะสำหรับ นักท่องเที่ยว ที่ไปเช่ารถขับ แต่เหมาะสำหรับผู้ที่ไปพำนักอาศัยอยู่ อย่างถาวร
9. การเข้าคิว สลับกันมาสลับกันไป สำคัญที่สุด !
thanop.com
เรื่องการเข้าคิวนี้ถือเป็นเรื่องที่สะท้อนวินัยของคนในชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด การเข้าคิวการสลับคันกันไป จุดนี้เป็นสิ่งสำคัญ เช่นการผ่านสี่แยก ที่ไม่มีไฟจราจร (NoTraffic Light Junctions) หากคุณขับรถตามคันหน้าเข้ามาถึงสี่แยกพอคันหน้าคุณขับขึ้นไปเพื่อจะผ่านสี่แยกคุณจะไม่สามารถขับตามคันหน้าเพื่อผ่านสี่แยกได้ ต้องหยุดรอก่อนและจะต้องดูซ้ายและขวา ว่ามีรถมาหรือไม่ หากมีคุณจะต้องรอจนกว่ารถทางซ้ายและขวาจะหมดไป เราถึงจะเป็นคิวถัดไปที่สามารถไปได้
เราจะชินกับสถานการณ์ในเมืองไทยแบบที่คันหน้าผ่านสี่แยกได้ไป เราจะขับจี้ท้าย (จี้ตูด) คันหน้าไปเลยคันหลังก็จะพยายามจี้ตูดเรามาให้ได้ชิดที่สุด ใครที่เว้นระยะห่างเกินไปก็จะเป็นฝ่ายเสียทางให้รถที่วิ่งไปอีกทางได้ ก็จะถือเป็นผู้แพ้ (เหมือนเล่นเกมเลยมีแพ้ มีชนะ ด้วย) ดังนั้นการขับรถในอเมริกาจะเน้นสลับคันกันไป เน้นการเข้าคิว อย่าเพลินจนขับตามคันหน้าไป ระหว่างข้ามแยก หรือขอเปลี่ยนช่องทางจราจร (เปลี่ยนเลน)
10. ป้าย “STOP” ต้อง STOP หยุดคือหยุด
ที่อเมริกา ป้ายนึงที่เราจะเห็นบ่อยมากๆตามท้องถนนเลยคือป้ายที่เขียนว่า “STOP” หรือที่แปลว่า “หยุด” นั่นเอง ที่นี่เขาจะเข้มงวดกับป้ายนี้มากๆเมื่อมาถึงจุดทางแยกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแยกเล็ก อย่างในห้างสรรพสินค้าในแหล่งช้อปปิ้งต่างๆ หรือ แยกใหญ่ จะเห็นป้ายนี้ตลอด พอเราขับมาถึงป้ายนี้เราจะต้องหยุดรถจนสนิท จนหยุดนิ่ง (Completely Stop) แม้จะไม่มีรถมาจากอีกฝั่งนึงก็ตาม หยุดรถประมาณ 1-3 วินาทีแล้วค่อยสามารถออกรถไปต่อได้
ป้าย STOP (All Ways) แบบนี้คือต้องหยุดทุกทางก่อนไปต่อ
หมายเหตุ : ในหนึ่งสี่แยกไม่ได้หมายความว่าจะมี ป้าย STOP ครบทั้ง 4 ทาง อาจจะมีแค่ทางใดทางหนึ่ง ก็ได้ อย่างเช่นรถที่ออกจากซอย (ทางโท)เพื่อที่ออกสู่ถนนใหญ่ (ทางเอก) ป้าย STOP จะมีแค่ฝ่ายทางโทเท่านั้น รถที่กำลังวิ่งอยู่ในทางเอก ไม่จำเป็นจะต้องหยุด เพราะฉะนั้นขอให้ดูดีๆไม่ใช่ว่าจะต้องหยุดตลอดทุกแยกเสมอไป
11. ออกทางออก (Exit) ผิดอย่าคิดถอยหลังกลับ !
n8waechter.info
ในการใช้ไฮเวย์ (Highway)หรือ ฟรีเวย์ (Freeway) ในอเมริกานั้นหากคุณออกในทางออกที่ผิด(Exit) หรือเลยทางออกที่ต้องการออก ห้ามชิดขวา(บ้านเราจะชิดซ้าย) แอบข้างทาง แล้วค่อยๆ ถอยหลังไปออกทางออกที่เราขับเลยออกมาแบบนี้ ห้ามเด็ดขาด!! ถือมีความผิดร้ายแรง โดยปรับหลายเหรียญ
คำแนะนำ : ให้ตรงเลยไปก่อน แล้วหาทางออก (Exit) อันถัดไปแล้วขับออกไปเลย แล้วหาทางกลับเข้ามาใหม่ เพราะปกติแล้วตรงจุดไหนมีทางออก ในทางกลับกันก็จะมีทางเข้าเสมอ (Freeway Entrance)
12. การเปลี่ยนเลน หรือ เปลี่ยนช่องทางจราจร
อีกจุดนึงที่สำคัญ ในการขับรถทุกที่ ทุกแห่งในโลกนี้ ก็คือ การเปลี่ยนเลน หรือ เปลี่ยนช่องทางจราจร นั่นเอง ซึ่งรถที่ประเทศสหรัฐอเมริกา นี้ส่วนมากแล้ว ตำแหน่งสัญญาณไฟเลี้ยว จะอยู่ทางฝั่งซ้ายมือ ของคอพวงมาลัย (รถในเมืองไทย ส่วนมากจะอยู่ด้านขวา ด้านซ้ายจะเป็นสวิตซ์ควบคุมที่ปัดน้ำฝน) ฉะนั้นต้องระวังให้ดี และ ฝึกให้เคยชินเข้าไว้
การขับรถของคนที่นี่ เขาค่อนข้างที่จะมีมารยาทสูง ดังนั้น การเปลี่ยนเลน จะต้องเปิด ไฟเลี้ยวขอทาง เพื่อขอทางทุกครั้ง ! (แต่ก็เห็นมี คนขับรถที่นี่บางรายเกรียนๆ ไม่เปิด ไฟเลี้ยวขอทาง อยู่บ้างเช่นกัน ปาดเข้ามาเลย ตามปกติของทุกเมือง ทุกประเทศ) และโดยส่วนมากแล้ว เมื่อคุณขอทางเพื่อเปลี่ยนเลน คนที่นี่เขาจะ “เบรคเพื่อชะลอรถให้คุณเข้าเลนเสมอ” ไม่มีการแบบ เร่งเครื่อง ขึ้นมาปิดทาง แถมบีบแตรไล่ ไม่ให้เปลี่ยนเลนแน่นอน
พิเศษ ! หากโดนตำรวจจับต้องทำยังไง ? แถมข้อสุดท้ายอันนี้สำคัญในกรณีฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ (แต่คงไม่มีใครอยากให้เกิด)อันนี้ผมไม่เคยโดนจับ แต่หลายคนที่ช่วยให้คำปรึกษาผมก่อนไปเที่ยวอเมริกาบอกว่า หากโดนตำรวจจับห้ามลงจากรถให้นั่งอยู่เฉยๆ หากเราลงจากรถจะคิดว่ามาต่อสู้และห้ามหยิบของจากเก๊ะเก็บของ (ที่เก็บของหน้ารถ)หรือหยิบของจากส่วนใดส่วนหนึ่งของรถ เพราะตำรวจจะคิดว่าเราจะหยิบอาวุธขึ้นมาต่อสู้และมีสิทธิยิงผู้โดยสารในรถได้ทันที ขอให้นั่งอยู่เฉยๆ ค่อยๆ ลดกระจกลงและทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเคร่งครัด
เพิ่มเติม ที่นี่ >>>>> ขั้นตอนการทำ Driver License
>>>>> ขับรถในอเมริกาโดยไม่ต้องสอบใบขับขี่อเมริกา
>>>>> ซื้อรถที่อเมริกาและนำกลับไปใช้ที่ไทย
ที่มา http://www.thanop.com/driving-in-usa/
|