photo by kaboompics/pixabay.com
โครงสร้างภาษาอังกฤษและภาษาไทยนั้นค่อนข้างต่างกันนะคะ ปัญหาของเรา ๆ ก็คือ อาจจะติดการสร้างประโยคจากการใช้ภาษาไทย แต่การสร้างประโยคภาษาอังกฤษนั้นแตกต่างจากภาษาไทยมากค่ะ
ความแตกต่างที่ว่านี้หลักๆ แล้วมีอยู่ 3 อย่าง
photo by StockSnap/pixabay.com
1. ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่มีการผันรูปของคำนามตามพจน์ (จำนวน) และผันคำกริยาตามประธาน ตามกาล (tense – ช่วงเวลา) ตามวาจก (voice – กระทำหรือถูกกระทำ) และตามมาลา (mood – เจตนาในการสื่อความหมาย)
Yesterday I ran into five cute puppies in my old school.
(เมื่อวาน ฉันไปเจอลูกสุนัขน่ารักห้าตัวที่โรงเรียนเก่าโดยบังเอิญ)
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในอดีต จึงอยู่ในรูป Past Simple คำกริยา run into จึงเปลี่ยนเป็น ran into ซึ่งมีอยู่รูปเดียวใน tense นี้ คือ ไม่ว่าประธานตัวไหนก็ใช้รูปเดียวกันหมด ส่วนคำว่า puppy ในกรณีนี้มีห้าตัว เป็นพหูพจน์ จึงเปลี่ยนรูปเป็น puppies
If Lucy were you, she wouldn’t tell me this secret.
(ถ้าลูซี่เป็นคุณ เธอจะไม่เล่าความลับนี้ให้ผมฟัง)
ประโยคนี้เป็นเงื่อนไขที่ผู้พูดสมมติขึ้น เพราะในความเป็นจริง ลูซี่ไม่ใช่คุณหรือบุคคลที่ผู้พูดพูดด้วย If-clause จึงอยู่ในมาลา Past Subjunctive สังเกตได้ว่าถ้าเป็นรูปปกติ (Past Simple Indicative) จะต้องเป็น Lucy was … แต่ในกรณีนี้เป็น Past Subjunctive จึงผันเป็น Lucy were … โดยรูปนี้ใช้ได้กับประธานทุกตัว
จากประโยคตัวอย่างทั้ง 2 ประโยคนี้ เมื่อสังเกตคำแปลภาษาไทยจะพบว่า คำกริยากับคำนามในภาษาจะไม่ผัน ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม
photo by janeb13/pixabay.com
2. ตำแหน่งการวางคำคุณศัพท์เพื่อขยายคำนาม ในภาษาอังกฤษคำขยาย (คำคุณศัพท์) จะอยู่หน้าคำนามเมื่อขยายทันที
Beauty and the Beast is a fantastic novel.
(“โฉมงามกับเจ้าชายอสูร” เป็นนิยายที่ยอดเยี่ยม)
ในประโยคนี้ คำว่า fantastic (ยอดเยี่ยม) ขยาย novel (นิยาย) ทันที จึงวางไว้หน้า novel ส่วนในภาษาไทย ตำแหน่งของคำจะสลับกัน
They like slender women.
(พวกเขาชอบผู้หญิงหุ่นผอมบาง)
ในประโยคนี้ คำว่า slender (ผอมบาง) ขยาย women (ผู้หญิง) ทันที จึงวางไว้หน้า women ส่วนในภาษาไทย ตำแหน่งของคำก็จะสลับกันเหมือนในตัวอย่างก่อนหน้านี้
แต่หากว่าในภาษาอังกฤษ ใช้วิธีบอกคุณลักษณะโดยเชื่อมด้วย linking verb เช่น be, feel หรือ taste เป็นต้น คำขยายจะอยู่หลังคำกริยาประเภทนี้ เช่น
Elizabeth felt energetic after drinking the coffee.
(อลิซาเบธรู้สึกกระปรี้กระเปร่าหลังจากดื่มกาแฟถ้วยนั้น)
คำว่า energetic (กระปรี้กระเปร่า, มีพลัง) ขยายคำว่า Elizabeth (อลิซาเบธ) โดยวางไว้หลังคำกริยา felt (รู้สึก)
The three-flavored fish tastes really awesome.
(ปลาสามรสจานนี้รสชาติเยี่ยมจริงๆ)
คำว่า awesome (เจ๋ง, ยอดเยี่ยม) ขยายคำว่า three-flavored fish (ปลาสามรส) โดยวางไว้หลัง tastes (มีรสชาติ)
photo by IanZA/pixabay.com
3. ภาษาไทยไม่มี article (คำนำหน้านาม ได้แก่ a/an และ the) ส่วนภาษาอังกฤษจะมีทั้งกรณีที่มี article และไม่มี article วางไว้หน้าคำนาม
ประเด็นนี้สำคัญมาก เพราะคนไทยไม่คุ้นเคยกับการใช้ article เวลาสร้างประโยคภาษาอังกฤษขึ้นมาก็จะไม่ใส่ article เลย หรือไม่งั้นก็ใส่ the มันทุกที่ การทำแบบนี้อาจทำให้สื่อความหมายผิดได้
กรณีที่ใช้ article แบบไม่เจาะจง (indefinite article) (= a หรือ an) คือ
ผู้พูดกล่าวถึงสิ่งๆ หนึ่งโดยไม่ต้องการเจาะจงเป็นพิเศษ และสิ่งๆ นั้นเป็นคำนามนับได้ที่มีแค่จำนวนเดียว เช่น
I have a pen.
(ผมมีปากกาอยู่ด้ามหนึ่ง)
ในกรณีนี้ ผู้พูดแค่บอกว่ามีปากกา แต่ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นด้ามไหน
กรณีที่ใช้ article แบบเจาะจง (definite article) (= the) คือ
ผู้พูดกล่าวถึงสิ่งๆ หนึ่งในแบบที่ต้องการเจาะจงเป็นพิเศษ โดยที่สิ่งๆ นั้นอาจเป็นคำนามนับได้หรือนับไม่ได้ก็ได้ และจะมีจำนวนเท่าใดก็ได้ เช่น
The house next to hers belongs to my uncle.
(บ้านหลังที่อยู่ติดกับบ้านของเธอเป็นของลุงของผม)
The bread you baked this morning smelt so good.
(ขนมปังที่คุณอบเมื่อเช้ามีกลิ่นหอมมาก)
The pandas in this zoo were imported from China.
(หมีแพนด้าในสวนสัตว์แห่งนี้ได้รับการนำเข้าจากประเทศจีน)
photo by geralt/pixabay.com
หวังว่าบทความที่นำมาฝากในวันนี้จะมีประโยชน์ต่อคนที่เรียนภาษอังกฤษทุกคนนะคะ ใครที่สนใจเรียนที่อเมริกา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ อีเมล enroll@khonthaiamerica.com หรือทาง Inboxhttps://www.facebook.com/KhonThaiAmerica ทางเรามีเจ้าหน้าที่ดูแลนักเรียนอยู่ตามเมืองต่างๆ นะคะ
โดย Ice : KhonThaiAmerica
ที่มา
https://www.dailyenglish.in.th/difference-between-thai-english/
|