แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ice999 เมื่อ 2015-10-6 18:35
วันก่อนได้มีโอกาสไปดูเรื่อง The Martian ( Bring Him Home) ที่นำแสดงโดย แมตต์ เดมอน ซึ่งเป็นนักบินอวกาศที่ถูกทิ้งไว้บนดาวอังคาร ได้ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตนเองนั้นอยู่รอดและหาวิธีติดต่อกับนาซ่าให้ได้ เพื่อที่เค้าะได้กลับบ้าน เราดูแล้วอินไปหลายวัน วันนี้เลยพามาดูว่านาซ่ามีความเป็นมาอย่างไรและมีภารกิจอย่างไรบ้าง
องค์การนาซา หรือ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration: NASA) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) ตามพระราชบัญญัติการบินและอวกาศแห่งชาติ เป็นหน่วยงานส่วนราชการที่รับผิดชอบในโครงการอวกาศและงานวิจัยห้วงอากาศอวกาศ (aerospace) ระยะยาวของสหรัฐอเมริกา คอยจัดการหรือควบคุมระบบงานวิจัยทั้งกับฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร โดยเกิดขึ้นจากเงื่อนไขด้านความมั่นคง ในช่วงที่สหรัฐฯ ทำสงครามเย็นกับสหภาพโซเวียต เพราะความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะในเรื่องอวกาศนั้นถือเป็นหน้าเป็นตาและเป็นการเสริมบารมีให้ประเทศ
จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งองค์การนาซา เริ่มตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2483 (ค.ศ. 1940) กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯมุ่งมั่นในการวิจัยชั้นบรรยากาศและพัฒนาอากาศยาน เพื่อให้มั่นใจว่าอเมริกาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี ต่อมา ดไวท์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ประกาศปรับปรุงแผนการโคจรของดาวเทียมวิทยาศาสตร์ และรวบรวมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโลก และสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้สหภาพโซเวียตรีบประกาศแผนปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรบ้าง
โดยเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957) โซเวียตชิงส่งยานสปุตนิก 1 สู่อวกาศตัดหน้า สภาคองเกรสรู้สึกหวั่นเกรงต่อภัยด้านความมั่นคงและภาวะความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของตน ทำให้สหรัฐฯ เร่งเดินเครื่องอย่างจริงจัง โดยก่อตั้งหน่วยงานราชการขึ้นใหม่ ให้ทำหน้าที่เกี่ยวกับกิจกรรมอวกาศทั้งหมดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทหาร
และในที่สุด วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ลงนามในกฎหมายการบินและอวกาศแห่งชาติ ค.ศ. 1958 เพื่อก่อตั้งองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) เริ่มปฏิบัติงานในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ขณะนั้นนาซาประกอบด้วยห้องปฏิบัติการ 4 แห่ง มีพนักงานประมาณ 8,000 คน ที่โอนมาจากคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการบินแห่งชาติ (NACA) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยของรัฐที่มีอายุกว่า 46 ปี
โครงการในระยะแรกของนาซาเป็นการวิจัยโดยมีเป้าหมายส่งมนุษย์ขึ้นไปกับยานอวกาศ ดำเนินไปพร้อมแรงกดดันจากการแข่งขันกับสหภาพโซเวียตในระหว่างสงครามเย็น นาซาเริ่มต้นศึกษาความเป็นไปได้ ในการใช้ชีวิตของมนุษย์ในห้วงอวกาศด้วยโครงการเมอร์คิวรีในปี พ.ศ. 2501 ต่อมาวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) นักบินอวกาศ อลัน บี. เชเพิร์ด จูเนียร์ กลายเป็นชาวอเมริกันคนแรกในอวกาศ เมื่อเขาเดินทางไปกับยานฟรีดอม 7 ในภารกิจนาน 15 นาที แบบไม่เต็มวงโคจร หลังจากนั้นจอห์น เกล็นน์ กลายเป็นชาวอเมริกันคนแรกที่โคจรรอบโลกเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) ในการขึ้นบินนาน 5 ชั่วโมงกับ ยานเฟรนด์ชิป 7
สำหรับภารกิจหลักขององค์การนาซาในปัจจุบัน คือ การบุกเบิกอนาคตแห่งการสำรวจอวกาศ เพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ โดยแบ่งการทำงานเป็นโครงการสำรวจอวกาศ และศูนย์วิจัย ซึ่งโครงการสำรวจอวกาศออกเป็น 2 โครงการใหญ่ ๆ คือ
1. การบินอวกาศปราศจากมนุษย์ขับคุม (Unmanned Space Flight) เป็นโครงการสำรวจอวกาศด้วยยานอวกาศและดาวเทียมชนิดต่าง ๆ ที่ไม่มีมนุษย์ขึ้นไปด้วย เช่น ยานอวกาศสำรวจดวงจันทร์และดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ส่วนดาวเทียมที่ส่งขึ้นไปโคจรรอบโลกมากมายหลายดวง ล้วนมีจุดประสงค์ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของมวลมนุษย์
2. การบินอวกาศที่มีมนุษย์ขับคุม (Manned Space Flight) การบินอวกาศที่มีมนุษย์ขับคุม มีการตระเตรียมส่งมนุษย์ขึ้นไปในห้วงอวกาศมาตั้งแต่ปี 2520 โดยประกาศรับสมัครบุคคลที่จะเข้าฝึกเป็นมนุษย์อวกาศชุดแรกในโครงการเมอคิวรี (Mercury) จนกระทั่งวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 ได้ส่งมนุษย์อวกาศคนแรกของสหรัฐอเมริกา ชื่อ อลัน บี. เชพพาร์ด ขึ้นไปกับยานเมอคิวรี ที่มีชื่อว่า ฟรีดอม 7 (Freedom 7) ปฏิบัติการทดลองขึ้นสู่อวกาศในช่วงเวลาเพียง 15 นาที ก็กลับลงสู่โลก (มนุษย์อวกาศคนแรกของโลก ชาวรัสเซียชื่อ ยูริ กาการิน ขึ้นสู่อวกาศกับยานวอสตอก 1 วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2504)
ส่วนศูนย์วิจัยหลัก ซึ่งมีภารกิจหน้าที่และดูแลครอบคลุมงานต่าง ๆ นั้น แบ่งเป็น 10 ศูนย์ ดังนี้
1. ศูนย์การบินอวกาศกอดเดิร์ด (Goddard Space Flight Center) Greenbelt, Maryland : การควบคุมยานสำรวจอวกาศของนาซา และการติดตามความคืบหน้าในการสำรวจโลก ระบบสุริยะ และเอกภพ
2. ศูนย์การบินอวกาศมาร์แชลล์ (Marshall Space Flight Center) Huntsville AL, Madison County : การพัฒนาระบบขนส่งทางอวกาศและระบบขับดัน
3. ศูนย์การบินอวกาศสเตนนิส (Stennis Space Flight Center) Mississippi : การวิจัยและทดลองระบบขับดันของจรวด Satturn V และการควบคุมระบบการขับเคลื่อนยานอวกาศ
4. ศูนย์วิจัยเกลนน์ (Glenn Research Center) Cleveland, Ohio : การพัฒนาระบบขับดัน และเทคโนโลยีการสื่อสาร
5. ศูนย์วิจัยเอมส์ (Ames Research Center) Mountain View, California : การพัฒนาระบบไอที การออกแบบและสร้างอากาศยาน การพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีอวกาศ
6. ศูนย์วิจัยแลงลีย์ (Langley Research Center) Hampton, Virginia : การวิจัยด้านอากาศยานและอวกาศ
7. ศูนย์วิจัยการบินไดรเดน (Dryden Flight Research Center) Los Angeles County, California : การวิจัยการบิน
8. ศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) Florida : ศูนย์วิจัยจรวดเพื่อส่งยานสำรวจ
9. ศูนย์อวกาศจอห์นสัน (Johnson Space Center) Houston, Texas : การฝึกนักบินอวกาศและผู้ควบคุมกระสวยอวกาศ
10. ห้องปฏิบัติการจรวดขับดัน (Jet Propusion Labolatory) Pasadena, California : การควบคุมยานสำรวจอวกาศในระบบสุริยะ
ใครอยากรู้ว่า นักบินอวกาศเค้ากินอยู่กันยังไง อ่านต่อได้ที่นี่ http://www.khonthaiamerica.com/f ... &extra=page%3D4
ที่มา http://men.kapook.com/view61648.html
รูจาดก www.popsci.com |