- ลงทะเบียน
- 2015-4-20
- ล่าสุด
- 2022-6-23
- สิทธิ์อ่าน
- 150
- เครดิต
- 6160
- สำคัญ
- 0
- โพสต์
- 1312
|
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ice999 เมื่อ 2016-1-20 21:28
นิยายภาษาอังกฤษ นั้นจัดเป็นงานเขียนประเภทเรื่องแต่ง (Fictions) ซึ่งในเริ่มแรกก็ไม่ได้มีการจัดแบ่งประเภทกันอย่างจริงจังเท่าไหร่ จนกระทั่งธุรกิจการพิมพ์และการศึกษาเริ่มขยายตัว ผู้คนในสังคมจึงสามารถเข้าถึงการอ่านนิยายได้มากขึ้น ดังนั้นวงการวรรณกรรมจึงมีการจัดแบ่งประเภทของนิยาย เพื่อให้สะดวกแก่การเข้าถึงตามรสนิยมการอ่านของแต่ละบุคคลยังไงล่ะครับ มาดูประเภทของนิยาย (Novels Genre) กันเลย
บทความจาก http://www.dailyenglish.in.th/english-novels/
นิยายแนวผจญภัย (Adventure Novels)
นิยายผจญภัยคือนิยายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเดินทางของตัวละครเอกที่อาจจะต้องพบกับภัยอันตรายและเรื่องลี้ลับมากมาย นิยายแนวผจญภัยมีลักษณะโดดเด่นคือมักใช้การเล่าเรื่องแบบบุคคลที่ 1 (1st Person Perspective) หรือการเล่าแบบบุคคลที่สามแต่มักถูกจำกัดไว้ด้วยมุมมองของตัวละครหลักเท่านั้น เพราะผู้แต่งมักต้องการคงไว้ซึ่งความตื่นเต้นของเหตุการณ์และไม่ยอมเฉลยจนกว่าตัวละครของเราจะรับรู้ หรืออีกนัยหนึ่งคือผู้อ่านจะเป็นเสมือนผู้ร่วมผจญภัยไปกับตัวละครเอกของเรื่องนั้นเองครับ นิยายแนวผจญภัยที่โด่งดังและคุ้นหูนักอ่านบ้านเรา เช่น นิยายของ มาร์ก ทเวน (Mark Twain) อย่างเรื่อง The Adventures of Tom Sawyer และ Adventures of Huckleberry Finn
นิยายแนวโรแมนซ์ (Romance Novels)
หรือนิยายแนวโรแมนติกนั้นคือนิยายที่มีเนื้อหาหลักเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักและความสัมพันธ์ของตัวละครเอก นิยายโรแมนติกเป็นที่คุ้นเคยกับนักอ่านวัยรุ่นชายหญิงทั่วโลก เนื่องจากเป็นนิยายที่บรรจุความรู้ ทัศนคติและกลไกทางสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับความรัก ซึ่งเป็นหัวข้อที่วัยรุ่นทั่วไปมักสงสัยใคร่รู้ การอ่านนิยายแนวโรแมนติกจึงเป็นสัมผัสกับประสบการณ์และความรู้แปลกใหม่ของช่วงชีวิตหนึ่งของวัยรุ่น นิยายโรแมนซ์ที่มีมักจะคุ้นหูคุ้นตานักอ่านบ้านเรา ผมยกตัวอย่าง งานของนิโคลัส สปาร์คส์ (Nicholas Sparks) นักเขียนนิยายแนวโรแมนติกดราม่า (Romantic Drama) ซึ่งผลงานของเขาถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ให้เราได้ชมกันมากมายหลายเรื่อง เช่น The Lucky One, The Best of Me, Safe Haven หรืองานที่โด่งดังเช่น Madam Bovary
หรือจะเป็นนิยายแนวโรแมนติกแบบเหนือธรรมชาติ (Paranormal Romance) ซึ่งหลายๆเรื่องยังคงครองใจนักอ่านชาวไทยอยู่ไม่น้อยเช่น The twilight saga, Beautiful Creatures และเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวกับความรักพิสดารอีกมากมาย
แต่หากจะพูดถึงนิยายโรแมนซ์ที่เรียกว่าขายดีที่สุดในสายตาผู้เขียนนั้น คงหนีไม่พ้นนิยายแนวตลกโรแมนติก (Romantic Comedy) ซึ่งสามารถให้ทั้งความบันเทิงและประสบการณ์แห่งความรักได้ในการอ่านครั้งเดียว และยังเป็นนิยายที่คนทุกเพศวัยนิยมอ่านกันมากทีเดียว ด้วยโครงเรื่องธรรมดาไม่พิสดาร มีมุกตลกโปกฮาอีกทั้งยังมีฉากเรียกน้ำตาให้เห็นประปราย เช่นเรื่อง Can You Keep a Secret?, Bridget Jones’s Diary
นิยายแนวสืบสวน (Detective Novels)
นิยายแนวสืบสวนนั้นโดดเด่นด้วยการวางโครงเรื่องให้ซับซ้อนด้วยการผูกปมปัญหา การให้ปริศนาบาง ทำให้ความเพลิดเพลินในการอ่านนิยายแนวสืบสวนนั้นอยู่ที่ผู้อ่านสามารถทำลุ้นไปกับการขมวดผม เปิดเผยปมและการคลายปมปัญหาของผู้เขียน นักเขียนนิยายแนวสืบสวนที่ดีจึงต้องเป็นนักเขียนที่มีความสามารถในการวางโครงเรื่องและการสร้างบุคลิกตัวตัวละครพอสมควร อีกทั้งยังต้องหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวในด้านต่างๆเช่น ความรู้ด้านนิติวิทยาศาสตร์ที่นิยายสมัยใหม่มักนิยมนำเสนอ ความรู้ด้านกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่สืบสวน เป็นต้น อย่างไรก็ตามนิยายแนวสืบสวนจะมีข้อจำกัดอยู่พอสมควรตรงที่ผู้อ่านต้องอ่านในแนวระนาบอย่างเดียว กล่าวคือต้องอ่านตามเรื่องที่ผู้เขียนวางไว้ให้ ไม่สามารถอ่านแบบขัดขืนตัวบทได้เท่าไหร่ มิเช่นนั้นจะไม่สามารถเข้าใจปมของเรื่องได้ นิยายสืบสวนที่เราดังๆเช่น งานของ อกาธา คริสตี้ (Agatha Christie) หลายเรื่องก็ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยเช่น Death on the Nile, The Mysterious Affair at Styles , Peril at End House, The Girl Who Play with Fire
นิยายแฟนตาซี (Fantasy Novels)
นิยายแนวแฟนตาซี รวมเรื่องราวมหัศจรรย์ที่จินตนาการของผู้เขียนจะไปถึง นิยายแฟนตาซีใช้เรื่องสมมุติเสียเป็นส่วนใหญ่เป็นองค์ประกอบ (Elements) ของเรื่องเช่น ฉาก (Setting) ก็มักไม่ใช่สถานที่ที่มีอยู่จริงในโลกของเรา แก่นเรื่อง (Theme) มักสร้างขึ้นจากตำนานหรือเรื่องเล่าที่ดูเหนือจริงเช่นเรื่อง เวทย์มนต์ เรื่องเทพเจ้าต่างๆ เป็นต้น ความโดดเด่นของนิยายภาษาแฟนตาซีคือให้เราได้สัมผัสประสบการณ์ที่เราไม่อาจจะค้นหาได้ในโลกแห่งความจริง สร้างความรู้ใหม่ๆเหนือจินตนาการของเราขึ้นมา งานแฟนตาซีที่เรามักคุ้นเคยเช่น Harry Potter, Alice in Wonderland, The Lord Of The Rings, The Wonderful Wizard of Oz
นิยายการเมือง (Political Novels)
นิยายแนวการเมือง คือนิยายที่มีความโดดเด่นในการสะท้อนความเป็นจริงของสังคมของผู้เขียนได้มาก ตัวนิยายจึงต้องบรรจุอุดมการณ์ทางการเมืองและความรุนแรงในทางเนื้อหาเพื่อมุ่งเปิดเผยลักษณะที่ขัดแย้ง อันตราย และไม่เป็นธรรมของสังคม โดยมากใช้ภาษาที่เสียดสีสังคม โจมตีรัฐบาลหรือวิพากษ์วัฒนธรรม นิยายแนวการเมืองมักเป็นนิยายที่ต้องอาศัยประสบการณ์และความรู้ของผู้อ่านสูงเพื่อที่จะทำความเข้าใจนัยยะของเรื่อง มิเช่นนั้นจะไม่สามารถเข้าถึงประเด็นหลักที่เรื่องต้องการนำเสนอได้ นิยายการเมืองเรื่องที่โด่งดังเช่น Animal Farm, 1984
นิยายสยองขวัญ (Horror Novels)
นิยายแนวสยองขวัญเป็นนิยายที่โดดเด่นด้วยการใช้ภาษาสร้างบรรยากาศของผู้อ่าน(Atmosphere) เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเกิดอาการกลัวด้วยภาษาให้ได้มากที่สุด นิยายสยองขวัญมีลักษณะการทำงานของโครงเรื่องคล้ายกับนิยายสืบสวน ที่จะมีลักษณะขมวดปมปัญหาหนึ่งขึ้นมาเพื่อให้ผู้อ่านต้องการค้นหาต้นตอของปมปัญหานี้ นิยายสยองขวัญมักฉากที่รุนแรงเช่นการฆ่า การหลอกหลอน อาการทางจิตประสาทของตัวละคร อาจรวมถึงเรื่องผีหลอกวิญญาณหลอนด้วย ผู้อ่านนิยายสยองขวัญโดยมากจะอยู่ในวัยที่บรรลุนิติภาวะแล้ว นิยายสยองขวัญที่โดงดังเช่นเรื่อง American Psycho, Ghost Story, I Have No Mouth & I Must Scream
นิยายดิสโทเปีย (Dystopian Novels)
นืยายแนวดิสโทเปียเป็นนิยายอีกประเภทที่กำลังได้รับความนิยมสูงมากในปัจจุบัน นิยายดิสโทเปียมักเล่าถึงโลกอนาคตอันใกล้ที่เกิดการล่มสลายของอารยธรรมมนุษย์ และสังคมมนุษย์ต้องดิ้นรนเพื่อชีวิตรอดของแต่ละสังคม จุดสำคัญของนิยายดิสโทเปียคือการสร้างกฏเกณฑ์อันไม่ชอบธรรมขึ้นมากำกับสังคมในตัวเรื่องและตัวละครเอกมักเป็นผู้ที่ต้องต่อสู้หรือเปิดเผยความไม่ชอบธรรมของสังคมนั้น นิยายดิสโทเปียมีลักษณะโดดเด่นที่อิงอยู่กับตัวละครหลัก (Protagonist) และตัวละครร้าย (Antagonist) ที่ต่างเป็นตัวแทนของทั้งอุดมการณ์และศีลธรรมในรูปแบบของตนเองและต้องขัดแย้งกันในระดับที่ไม่สามารถอยู่ร่วมโลกกันได้ นิยายดิสโทเปียที่เรามักคุ้นเคยเช่น The Hunger Games, Divergence, Brave New World
นิยายอีโรติก (Erotic Novels)
นิยายแนวอีโรติก เป็นนิยายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศอย่างรุนแรง ความโดดเด่นของนิยายแนวอีโรติกคือการใช้ภาษาบรรยายถึงลักษณะและกิจกรรมทางเพศของตัวละครอย่างเด่นชัด จนผู้อ่านเกิดจินตภาพราวกับได้เห็นภาพนั้นด้วยตาตนเอง นิยายอีโรติกเป็นประเภทนิยายที่ใหม่เพราะต้องนำเสนอในยุคที่ทัศนะต่อเรื่องเพศของสังคมเปิดกว้างพอ แม้ในปัจจุบันบางประเทศยังมีการคัดกรองนิยายอีโรติกอย่างเข้มข้น นิยายอีโรติกใช้ภาษาบรรยายอย่างลึกถึงพริกถึงขิงที่เราคงคุ้นหูคุ้นตากันดีเช่นเรื่อง Fifty Shades Trilogy, Tampa, Vox
นิยายอิงประวัติศาสตร์ (Historical Novels)
นิยายอิงประวัติศาสตร์มีความโดดเด่นที่ตัวเนื้อเรื่องจะอิงอยู่กับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะด้านเหตุการณ์ สถานที่หรือบุคคลในประวัติศาสตร์ โดยมักมีการเล่าเกร็ดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์นั้นๆเสริมแทรกอยู่เนืองๆเพื่อความเข้าใจของผู้อ่านเช่นนิยายเรื่อง Memoirs of a Geisha, A Place of Greater Safety
นิยายบางประเภทยังนำข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ไปเสริมให้โครงเรื่องแข็งแรงขึ้น สามารถระบุความเป็นมาของตัวละครและเหตุการณ์ได้ชัดเจนขึ้นเผื่อสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้อ่านมากขึ้น เช่นงานเขียนของ แดน บราวส์ (Dan Brown) อาธิ The Davinci Code, Inferno หรืองานของวิกเตอร์ อูโก (Victor Hugo) เรื่อง Les Miserables
นิยายสมัยใหม่ (Modern Novels)
ตามความหมายของแวดวงวรรณกรรม นิยายสมัยใหม่หรือนวนิยายเป็นนิยายที่ไม่ได้ร่วมสมัยกับยุคปัจจุบันของเราแล้ว (ในบางขณะคำว่าสมัยใหม่อาจทำให้เราสับสนว่ายุคเราคือยุคสมัยใหม่) การเขียนนิยายสมัยใหม่นั้นเริ่มต้นขึ้นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมาจนกระแสโลกหลังสมัยใหม่ (Post-Modern) ได้เริ่มก่อตัวขึ้น นิยายสมัยใหม่โดดเด่นตรงที่การใช้ภาษาที่เข้าใจได้ยาก นักเขียนประพันธ์ในยุคนี้ต้องการจะแหวกธรรมเนียมของภาษาโดยการพยายามสร้างภาษาและระเบียบการเขียนชุดใหม่มาใช้ในงานของตน จึงเริ่มเรียกงานของนักเขียนประเภทนี้ว่างานสมัยใหม่ งานสมัยใหม่ได้รับการกล่าวขานว่าสามารถทำให้ภาษาไปถึงพรหมแดนของการเป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสารได้มากที่สุด งานเขียนโด่งดังเช่นเรื่อง Ulysses, A Portrait of the Artist as a Young man, Mrs. Dalloway, Metamorphosis
ขอบคุณบทความจาก http://www.dailyenglish.in.th/english-novels/
|
|